[x] ปิดหน้าต่างนี้
T&T-2018 All rights reserved ระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ สพป.ตรัง เขต 2.

เรื่อง : เผยแพร่รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self-Assessment Report: SAR) ปีการศึกษา ๒๕๖๖
ผู้เขียน : โรงเรียนบ้านบางเป้า
วันที่   13   พฤษภาคม   2567
เข้าชม : 53
Bookmark and Share


บทสรุปของผู้บริหาร

ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา 

        โรงเรียนบ้านบางเป้า ตั้งอยู่เลขที่ ๒๐๕ หมู่ที่ ๓ ตำบลบางเป้า อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต ๒ หมายเลขโทรศัพท์ ๐๗๕-๒๗๐๖๒๔ หมายเลขโทรสาร ๐๗๕-๒๗๐๖๒๔ e-mail : 92020029bbp@gmail.com เว็บไซต์โรงเรียน: www.banbangpao.com             

        เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ ๑ ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ผู้บริหารสถานศึกษาชื่อ นายฉัตรชัย  จันทโท โทรศัพท์ ๐๘๙-๗๓๘-๙๐๒๓  มีบุคลากรในโรงเรียน ทั้งหมด ๒๑ คน จำแนกเป็น ผู้บริหาร ๑ คน ข้าราชการครู ๑๕ คน ครูอัตราจ้าง ๒ คน ธุรการโรงเรียน ๑ คน พี่เลี้ยงเด็กพิการ ๑ คน และวิทยากรอิสลาม ๑ คน มีการจัดการศึกษา ๒ ระดับ คือ

         ๑. ระดับการศึกษาปฐมวัย : การศึกษาปฐมวัย (๓ – ๖ ปี)  มีนักเรียนจำนวน ๒๖ คน

         ๒. ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จำแนกเป็น

               -          ประถมศึกษา               มีนักเรียนจำนวน   ๖๙ คน

               -          มัธยมศึกษา                มีนักเรียนจำนวน   ๓๐  คน

               รวมทั้งสถานศึกษา               มีนักเรียนจำนวน  ๑๒๕  คน           

ผลการประเมินคุณภาพมาตรฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา

            ประเมินคุณภาพ การศึกษา ๒ ระดับ คือ     

            ๑. ระดับการศึกษาปฐมวัย : การศึกษาปฐมวัย  มีบุคลากรครู จำนวน ๓  คน นักเรียน  จำนวน ๒๖ คน

                ในภาพรวมมีผลการประเมินระดับการศึกษาปฐมวัยอยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม

                 ๑.๑ มาตรฐานที่ ๑  คุณภาพของเด็ก มีผลการประเมิน อยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม

                  ๑.๒ มาตรฐานที่ ๒  กระบวนการบริหารและการจัดการ มีผลการประเมิน อยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม   

                  ๑.๓ มาตรฐานที่ ๓  การจัดประสบการณ์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีผลการประเมิน  อยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม

        ๒. ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : การศึกษาขั้นพื้นฐาน มีบุคลากรครู จำนวน ๑๒ คน นักเรียน จำนวน ๙๙ คน

                ในภาพรวมมีผลการประเมินระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม

                ๒.๑ มาตรฐานที่ ๑  คุณภาพของผู้เรียน มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ดีเลิศ

                ๒.๒ มาตรฐานที่ ๒  กระบวนการบริหารและการจัดการ มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม

                  ๒.๓ มาตรฐานที่ ๓  กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีผลการประเมิน อยู่ในระดับ ยอดเยี่ยม

 ผลการประเมินคุณภาพมาตรฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา

 

 

 

 ๑. ระดับการศึกษาปฐมวัย 

           กระบวนการพัฒนาและผลการพัฒนา

  ด้านคุณภาพของเด็กปฐมวัย โรงเรียนบ้านบางเป้า ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนและจัดประสบการณ์โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามแนวทาง active learning อย่างหลากหลาย ซึ่งการจัดกิจกรรมระดับการศึกษาปฐมวัย เป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้เด็กมีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์ มีสุขภาพอนามัย สุขนิสัยที่ดี รักษาความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น เคลื่อนไหวร่างกายอย่างคล่องแคล่วประสานสัมพันธ์ ทรงตัวได้ และใช้มือ-ตาประสานสัมพันธ์กัน เหมาะสมตามวัย  จัดประสบการณ์ให้เด็กแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น สนใจ มีความสุข และแสดงออกผ่านงานศิลปะ ดนตรี และการเคลื่อนไหว ซื่อสัตย์สุจริต มีความเมตตา กรุณา มีน้ำใจและช่วยเหลือแบ่งปัน มีความเห็นออกเห็นใจผู้อื่น และมีความรับผิดชอบ เน้นให้เด็กช่วยเหลือตนเองในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน มีวินัยในตนเอง ประหยัดและพอเพียง ดูแลรักษาธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีมารยาทตามวัฒนธรรมไทยและรักความเป็นไทย ยอมรับความเหมือนและความแตกต่างระหว่างบุคคล มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ปฏิบัติตนเบื้องต้นในการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ทักทาย  และมีสัมมาคารวะกับผู้ใหญ่ ยอมรับหรือเคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล และมีความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมรอบตัว เปิดโอกาสให้เด็กสนทนาโต้ตอบและเล่าเรื่องให้ผู้อื่นเข้าใจ อ่านเขียนภาพและสัญลักษณ์ได้ มีความสามารถในการคิดรวบยอด มีความสามารถในการคิดเชิงเหตุผล มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ ทำงานศิลปะตามจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ แสดงท่าทาง / เคลื่อนไหวตามจินตนาการอย่างสร้างสรรค์ มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และมีความสามารถในการแสวงหาความรู้ ส่งผลให้มีผลการพัฒนาคุณภาพของเด็กปฐมวัย อยู่ในระดับยอดเยี่ยม

         ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ โรงเรียนบ้านบางเป้า มีกระบวนการบริหารและการจัดการหลักสูตร โดยการประชุมวางแผนในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัย กำหนดแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้เด็กได้บรรลุมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตัวบ่งชี้ สภาพที่พึงประสงค์และครอบคลุมพัฒนาการทั้ง ๔ ด้าน ตามที่หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยกำหนด มีการศึกษาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และคู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา ความต้องการของสถานศึกษา มีการจัดครูที่มีวุฒิตรงตามสาขา และครูที่มีประสบการณ์ด้านการดูแลเด็กปฐมวัยที่เพียงพอกับชั้นเรียน  และครูจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทุกด้านอย่างสมดุลและเต็มศักยภาพ สร้างโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง เล่นและปฏิบัติอย่างมีความสุข เด็กมีนิสัยรักการอ่าน สนใจในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว มุ่งมั่นที่จะเรียนรู้เหมาะสมกับวัย เด็กสามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามวัยผ่านกิจวัตรประจำวันและการเล่น ทั้งยังสามารถฝึกทักษะอาชีพได้ โดยได้ฝึกปฏิบัติจริง โรงเรียนมีระบบบริหารคุณภาพที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ร่วมคิดตัดสินใจ ร่วมวางแผน เพื่อให้การดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  มีการดำเนินงานตามวงจร PDCA ทำให้มีการตรวจสอบและปรับปรุงคุณภาพอยู่สม่ำเสมอ และนำผลการประเมินจากการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นฐานในการพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนา ตรวจสอบผลการดำเนินงาน และปรับปรุง แก้ไขงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผลการประเมินจากการพัฒนาตามรายมาตรฐาน อยู่ในระดับยอดเยี่ยมทุกมาตรฐาน

       ด้านการจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ โรงเรียนบ้านบางเป้ามุ่งเน้นความสำคัญของพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ส่งเสริมให้ครูผู้สอนมีการวิเคราะห์ข้อมูลเด็กเป็นรายบุคคล เพื่อศึกษา วิเคราะห์ แยกแยะ หาความแตกต่างระหว่างบุคคล เกี่ยวกับความพร้อมด้านความรู้พื้นฐานและประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ก่อนที่จะให้เด็กได้รับการเรียนรู้ กิจกรรมต่าง ๆ  ของแต่ละชั้น ตลอดทั้งศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับความพร้อมด้านพฤติกรรมและองค์ประกอบความพร้อมด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา  มีการจัดกิจกรรมการเยี่ยมบ้าน เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างผู้ปกครอง ครู โรงเรียน มุ่งเน้นการจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมพัฒนาการทั้ง ๔ ด้าน ด้านร่างกาย เด็กได้เคลื่อนไหวอย่างเหมาะสมตามจินตนาการเพื่อให้ร่างกายทุกส่วนทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็กให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านอารมณ์ จิตใจ ให้เด็กมีพัฒนาการได้อย่างเหมาะสม รู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักการรอคอย กล้าแสดงออก ช่วยเหลือแบ่งปัน มีความรับผิดชอบ และปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เด็ก ด้านสังคม ให้เด็กได้ช่วยเหลือตัวเองในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ มีวินัยในตนเอง เล่นร่วมกับผู้อื่นได้ มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ ด้านสติปัญญา ส่งเสริมให้เด็กมีความคิดรวบยอด รู้จักการแก้ปัญหา สื่อสารและมีทักษะความคิดพื้นฐานแสวงหาความรู้ได้อย่างเหมาะสมตามวัย จัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กได้ประสบการณ์โดยตรง จากการเรียนผ่านการเล่น โดยลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองและการเรียนรู้รายกลุ่ม  มีการประเมินพัฒนาการของเด็กปฐมวัยจากการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันด้วยเครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย มีการวิเคราะห์ผลพัฒนาการของเด็ก โดยให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม เพื่อได้นำผลการประเมินไปพัฒนาศักยภาพของเด็กและพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในชั้นเรียนต่อไป ทั้งนี้ผลการประเมินจากการพัฒนาตามรายมาตรฐาน อยู่ในระดับยอดเยี่ยมทุกมาตรฐาน และได้มีการเผยแพร่ผลการดำเนินงานของโรงเรียนด้านต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์โรงเรียน www.banbangpao.com, Facebook โรงเรียนบ้านบางเป้า, กลุ่มไลน์ผู้ปกครองนักเรียน และเอกสารวารสารประชาสัมพันธ์ของโรงเรียนบ้านบางเป้า 

 

          จุดเด่น 

       โรงเรียนเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และครูผู้สอนจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ โดยคำนึงถึงพัฒนาการและความสนใจของเด็ก เน้นให้เด็กสร้างองค์ความรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง มีทักษะการแสวงหาความรู้ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ รวมทั้งการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะการคิดให้แก่เด็ก  

จุดที่ควรพัฒนา

           จัดสภาพแวดล้อมเครื่องเล่นสนามเด็กให้ปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ และจัดสื่อของเล่นสำหรับเด็กให้เหมาะสมตามวัยและพอเพียงกับจำนวนเด็ก นำผลสะท้อนการจัดการเรียนการสอนของครู มาเป็นประเด็นในการจัดทำวิจัยในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนต่อไป

แนวทางการพัฒนาในอนาคตเพื่อยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น

           ๑. การจัดกิจกรรมที่เน้นกระบวนการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นกลุ่มอย่างหลากหลาย เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการครบทุกด้าน

           ๒. ส่งเสริมครูในการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ และเน้นให้เด็กปฐมวัยปฏิบัติ
(Active Learning)

           ๓. ประสานความร่วมมือกับชุมชน เครือข่ายผู้ปกครองให้มีส่วนร่วมในการจัดประสบการณ์เด็ก

  ๔. การนำผลสะท้อนการจัดประสบการณ์ของครู มาเป็นประเด็นในการจัดทำวิจัยในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อไป

๒. ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

 กระบวนการพัฒนาและผลการพัฒนา

โรงเรียนบ้านบางเป้ามีกระบวนการพัฒนาผู้เรียนด้วยวิธีการที่หลากหลาย  โดยครูมีการออกแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะของผู้เรียนให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และบูรณาการหลากหลายรูปแบบ เช่น  การจัดการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติจริง แบบร่วมมือกันเรียนรู้ระหว่างครู ผู้ปกครองและนักเรียน ใช้ฏระบวนการคิดวิเคราะห์  และการคิดแก้ปัญหาเป็นหลัก จัดกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนทุกคนอ่านคล่อง เขียนคล่องและคิดวิเคราะห์เป็น  ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยใช้เหตุผลประกอบการตัดสินใจ และแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ โรงเรียนยังมีการดำเนินการเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ โดยประสานความร่วมมือกับวิทยาลัยการอาชีพกันตัง นำบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะสาขาอาชีพ ที่ผู้เรียนสนใจมาให้ความรู้ในโรงเรียน อีกทั้งยังมีการประสานความร่วมมือกับวิทยากรท้องถิ่นมาให้ความรู้ด้านทักษะอาชีพให้แก่ผู้เรียน เพื่อตอบสนองนโยบาย/กิจกรรม Active learning เน้นทักษะให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาร่วมกันวางแผนการจัดการเรียนการสอน ส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะพื้นฐาน และเจตคติที่ดีต่องานอาชีพ และมีความพร้อมที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น อีกทั้งผู้เรียนยังมีคุณลักษณะและค่านิยมที่ดีสูงกว่าเป้าหมายที่สถานศึกษากำหนดเป็นแบบอย่างได้ มีความภูมิใจในท้องถิ่น เห็นคุณค่าของความเป็นไทย มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาไทย โดยสามารถอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างและหลากหลาย ผู้เรียนมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรม โดยนำไปใช้และเผยแพร่ มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อพัฒนาตนเองและสังคม มีทักษะการทำงานที่สร้างสรรค์และ มีคุณธรรม

ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ มีผลประเมินในรายมาตรฐานอยู่ในระดับยอดเยี่ยม โรงเรียนมีเป้าหมาย วิสัยทัศน์และพันธกิจที่กำหนดชัดเจน สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน ความต้องการ ชุมชน นโยบายรัฐบาล แผนการศึกษาแห่งชาติ เป็นไปได้ในการปฏิบัติและทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงมีระบบบริหารจัดการคุณภาพของโรงเรียนที่ชัดเจนมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียน  โดยความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มีการนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุง พัฒนางานอย่างต่อเนื่องและเป็นแบบอย่างได้  มีการใช้หลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม เป็นการบริหารที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทุกฝ่าย ได้เข้ามาช่วยคิดตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมทำงาน เพื่อให้การดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการดำเนินงานตามวงจร PDCA ได้มีการวางแผน ออกแบบกิจกรรมและดำเนินงานตามแผนที่เกิดจากการมีส่วนร่วม ทำให้มีการตรวจสอบและปรับปรุงตลอดเวลา ใช้ผลการประเมินและการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นฐานในการพัฒนาและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนา ตรวจสอบผลการดำเนินงาน และการปรับปรุง แก้ไขงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ด้านของกระบวนการจัดการเรียนการสอน ครูจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมีผลประเมินอยู่ในระดับยอดเยี่ยม ครูจัดกระบวนการจัดการเรียนรู้โดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐) ครูออกแบบหน่วยการจัดการเรียนรู้ และจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ตนเอง กำหนดเนื้อหาและกิจกรรมตามความสนใจผ่านกระบวนการคิด ปฏิบัติจริงผ่านสื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ Application: Ka hoot, Application: Line  สื่อวิดีทัศน์ใน YouTube และ Microsoft PowerPoint เป็นต้น อีกทั้งมีสื่อการเรียนรู้และสิ่งอำนวยความสะดวก ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีการตรวจสอบ และประเมินผู้เรียนอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนโดยใช้เครื่องมือและวิธีการวัดและประเมินผลที่เหมาะสมกับเป้าหมายในการจัดการเรียนรู้ ให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียน และนำผลมาพัฒนาผู้เรียน มีการบริหารจัดการชั้นเรียนเชิงบวก เด็กรักที่จะเรียนรู้ เรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุข มีชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ระหว่างครูและผู้เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนา และปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ข้อมูลสะท้อนกลับเพื่อพัฒนาและปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ครูผลิตสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย สอดคล้องกับแผนการจัดการเรียนรู้ ครูทุกคนมีการบันทึกผลหลังสอนทุกครั้ง รวมไปถึงมีการนำกระบวนการวิจัยมาใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน โดยได้มีการดำเนินงานนิเทศการจัดการเรียนการสอนตามตารางดำเนินงานที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ได้มีการเผยแพร่ผลการดำเนินงานของโรงเรียนในด้านต่างๆ ผ่านเว็บไซต์โรงเรียนบ้านบางเป้า www.banbangpao.com, Facebook โรงเรียนบ้านบางเป้า, กลุ่มไลน์ผู้ปกครองนักเรียน และวารสารประชาสัมพันธ์ของโรงเรียนบ้านบางเป้า 

จุดเด่น

มาตรฐานที่ ๑  คุณภาพของผู้เรียน

ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะพื้นฐาน และเจตคติที่ดีต่องานอาชีพ ทั้งนี้โรงเรียนได้มีการส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่บูรณาการทักษะอาชีพ โดยมีการเชิญวิทยากรท้องถิ่นมา ให้ความรู้แก่ผู้เรียน ส่งผลให้ผู้เรียนรู้จักการเสาะแสวงหาความรู้ มีทักษะพื้นฐานในการทำงาน รวมไปถึงมีเจตคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพในอนาคต และมีความพร้อมที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น นอกจากนี้ผู้เรียนสามารถยอมรับที่จะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง และหลากหลาย ทั้งในด้าน เพศ วัย เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี รวมไปถึงมีความภูมิใจในท้องถิ่นและความเป็นไทย เห็นคุณค่าของความเป็นไทย มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีไทยรวมทั้งภูมิปัญญาไทย มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่สถานศึกษากำหนด มีคุณธรรม จริยธรรมอันดีงาม สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข เข้าใจผู้อื่นโดยปราศจากความขัดแย้ง

มาตรฐานที่ ๒ กระบวนการบริหารและการจัดการ

โรงเรียนบ้านบางเป้ามีการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาครู บุคลากร ให้มีความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ ส่งเสริมให้มีการใช้ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพมาใช้ในการพัฒนางานและการเรียนรู้ของผู้เรียน มีการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน รวมไปถึงผู้บริหารมีการแบ่งโครงสร้างการบริหารงานอย่างชัดเจน มีการกำหนดนโยบายและการวางแผนเพื่อบริหารอย่างมีประสิทธิภาพและมีการตรวจสอบติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดงานโดยเน้น การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของบุคลากร  มีหัวหน้าฝ่ายทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงาน และได้กำหนดบทบาทหน้าที่การดำเนินงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับพันธกิจและวิสัยทัศน์ของโรงเรียน นอกจากนี้โรงเรียนยังมีการจัดการและปรับปรุงระบบงานโดยใช้แนวทางการบริหารจัดการเรียนรู้เพื่อให้บุคลากรของโรงเรียนได้ร่วมกันดำเนินงานให้บรรลุผลตามแผนพัฒนาการศึกษา และมีการบริหารการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผลการดำเนินตามโครงการและกิจกรรม เกิดประสิทธิผลบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการประจำปี ผู้บริหารมีการส่งเสริมให้ครูและบุคลากรในโรงเรียนมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการ เช่น การประชุมครู ผ่านเครือข่ายอินเอร์เน็ต โดยใช้โปรแกรม Zoom

         มาตรฐานที่ ๓  กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 

          ครูมีการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการพัฒนางานสอน ครูสอนตรงวิชาเอก  และดำเนินกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนมีส่วนร่วมได้ปฏิบัติจริง มีการใช้วิธีการและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย นักเรียนแสวงหาความรู้ จากสื่อเทคโนโลยีด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง 

 

 

        จุดที่ควรพัฒนา

          มาตรฐานที่ ๑  คุณภาพของผู้เรียน

          ผู้เรียนมีการพัฒนาด้านการคิดคำนวณ การคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ และสรุปองค์ความรู้                  ได้ค่อนข้างน้อย โรงเรียนควรส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักการรวบรวมองค์ความรู้ได้ทั้งด้วยตัวเองและการทำงานเป็นทีม เชื่อมโยงองค์ความรู้และประสบการณ์มาใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อาจเป็นแนวความคิด โครงการ โครงงาน ชิ้นงาน ผลผลิต ให้มากขึ้น และควรส่งเสริมทักษะการสื่อสารทางภาษา การฟัง พูด อ่าน เขียน ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยส่งเสริมการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองให้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เกิด     การสร้างนวัตกรรมควรบูรณาการในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และทุกระดับชั้น โดยเน้นกิจกรรมโครงงาน การผลิตชิ้นงาน ผลงานนักเรียนให้มากขึ้น ควรจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นยกระดับผลสัมฤทธิ์ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และทุกระดับชั้น รวมไปถึงควรจัดกิจกรรมการแข่งขันความสามารถด้านการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณให้แก่ผู้เรียนเพื่อเปรียบเทียบความก้าวหน้าทางการเรียนและการพัฒนาของนักเรียนเป็นรายบุคคล

          มาตรฐานที่ ๒ กระบวนการบริหารและการจัดการ

          โรงเรียนควรส่งเสริม สนับสนุน พัฒนางานวิชาการ ที่เน้นคุณภาพผู้เรียนรอบด้านตามหลักสูตรสถานศึกษาและเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสัญญาณอินเทอร์เน็ตของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และระบบการบริหารจัดการการเรียนการสอน รวมไปถึงควรจัดให้มีอาคารหรือห้องปฏิบัติการที่เน้นทักษะอาชีพ ทักษะชีวิตที่เพียงพอและเหมาะสมต่อการจัดการเรียนรู้  โดยมีการนิเทศติดตามเป็นระบบที่ชัดเจน

          มาตรฐานที่ ๓  กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

          ควรพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ตามทักษะการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งประกอบด้วย ทักษะพื้นฐานในการรู้หนังสือ  ทักษะการคิด  ทักษะการทำงาน ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และทักษะการใช้ชีวิต และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ความรู้และทักษะในรายวิชาต่างๆที่หลากหลาย โดยควรเน้นที่การจัดการเรียนการสอนตามทักษะ/สมรรถนะ (competency-based approach) นำวิธีการและนวัตกรรมการเรียนรู้โดยการบูรณาการเทคโนโลยีมาใช้ ในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์และทักษะการคิดขั้นสูง และการใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ (inquiry-and problem-based approaches) กระตุ้นและสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยการระดมสรรพกำลังและทรัพยากรการเรียนรู้ในชุมชนมาสนับสนุนการเรียนการสอน

แนวทางการพัฒนาในอนาคตเพื่อยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น

            ๑. ส่งเสริมและพัฒนาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เกิดทักษะกระบวนการคิด เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถคิดค้น เสาะหาและสร้างองค์ความรู้ที่เป็นนวัตกรรม เพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้ตรงกับ ความต้องการของสังคมในปัจจุบันและอนาคต

๒. การส่งเสริม สนับสนุนผู้เรียนด้านทักษะอาชีพที่หลากหลายตามความถนัดและความสนใจ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และทำความรู้จักกับอาชีพที่กำลังเป็นกระแส หรือกำลังเป็นที่นิยมในสังคมปัจจุบันเพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพในอนาคต เช่น ขายสินค้าออนไลน์, รีวิวสินค้า, Youtuber, Gamer, Streamer, Vlogger, Start up เป็นต้น

๓. ส่งเสริมครูในการจัดกระบวนการเรียนการสอนตามทักษะ/สมรรถนะ (competency-based approach) นำวิธีการและนวัตกรรมการเรียนรู้โดยการบูรณาการเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนเน้นการคิดวิเคราะห์และทักษะการคิดขั้นสูง รวมไปถึงการใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ (inquiry- and problem-based approaches) โดยให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติจริง (Active Learning) ส่งเสริมและพัฒนาครูเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชิงปฏิบัติการด้านทักษะและการใช้นวัตกรรม พร้อมติดตามผลการนำไป ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง

 



ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

     โครงการ "สุขาดี มีความสุข" 10 มิ.ย. 2567
     รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา ปีการศึกษา 2566 2 มิ.ย. 2567
     รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ปีการศึกษา 2566 1 มิ.ย. 2567
     การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา 29 พ.ค. 2567
     รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self-Assessment Report : SAR) ปีการศึกษา 2566 25 พ.ค. 2567


ระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2
My Office V 6.4 - 2018 Copyright @T&T-2018 All rights reserved.