[x] ปิดหน้าต่างนี้
T&T-2018 All rights reserved ระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ สพป.ตรัง เขต 2.

เรื่อง : รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self- Assessment Report : SAR) ปีการศึกษา 2566
ผู้เขียน : โรงเรียนบ้านพรุใหญ่
วันที่   21   พฤษภาคม   2567
เข้าชม : 152
Bookmark and Share


 บทสรุปของผู้บริหาร

ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา 

ชื่อโรงเรียน บ้านพรุใหญ่  ที่อยู่  51/2 หมู่ที่ 2  ตำบลบางหมาก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2

ชื่อผู้บริหารโรงเรียน  นางสาวจุฑาภรณ์  เชื้อเพ็ชร  เบอร์โทรศัพท์ 091-8505628

จำนวนครูข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวม 16 คน จำแนกเป็น  ข้าราชการครู 11 คน พนักงานราชการ 1 คน ครูอัตราจ้าง 2 คน บุคลากรสนับสนุนอื่น ๆ 2 คน

จำนวนนักเรียน  รวม 117 คน  จำแนกเป็นระดับอนุบาล 43 คน ระดับประถมศึกษา 74 คน

 

ผลการประเมินคุณภาพมาตรฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา

          ระดับการศึกษาปฐมวัย สรุปผลการประเมินภาพรวม อยู่ในระดับดีเลิศ

          1.1  มาตรฐานที่ 1  คุณภาพของเด็ก                          มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ดีเลิศ

          1.2  มาตรฐานที่ 2  กระบวนการบริหารและการจัดการ     มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ดีเลิศ

          1.3  มาตรฐานที่ 3  การจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ดีเลิศ

          กระบวนการพัฒนา

              โรงเรียนบ้านพรุใหญ่ยึดหลักและแนวทางการจัดประสบการณ์ของเด็กปฐมวัย ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 กล่าวคือ การจัดประสบการณ์จะต้องจัดในรูปแบบบูรณาการผ่านการเล่นอย่างมีความหมาย การจัดกิจกรรมประจำวันสำหรับเด็กจัดหลายรูปแบบ โดยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการนำไปใช้ของแต่ละหน่วยการเรียนรู้ หรือสาระการเรียนรู้ หลักการจัดกิจกรรมและขอบข่ายของกิจกรรมประจำวัน กำหนดระยะเวลาในการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยของเด็กในแต่ละวัน สามารถยืดหยุ่นได้ตามความต้องการและความสนใจของเด็ก ดังนี้ เด็กในช่วงอายุ 3-4 ปี มีความสนใจ 8-12 นาที, เด็กในช่วงอายุ 4-5 ปี มีความสนใจ 12-15 นาที และเด็กในช่วงอายุ 5-6 ปี มีความสนใจ 15-20 นาที ครูกำหนดรูปแบบการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย รวมถึงนวัตกรรมที่ต้องใช้สอดแทรกลงในการจัดประสบการณ์เป็นรายสัปดาห์ และในบางสัปดาห์อาจใช้หน่วยตามความสนใจของเด็ก โดยพิจารณาข้อมูลจากหลักสูตรสถานศึกษา ตัวเด็ก สภาพแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม ประกอบกัน ทั้งนี้ ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม เมื่อได้หน่วยการจัดประสบการณ์แล้ว คุณครูกำหนดรายละเอียดของสาระการเรียนรู้ให้เข้ากับหัวเรื่องหน่วยการจัดประสบการณ์ สาระการเรียนรู้ก็จะประกอบด้วยประสบการณ์สำคัญและสาระที่ควรรู้ ซึ่งในสาระที่ควรรู้ในหลักสูตรไม่ได้กำหนดเนื้อหาหรือรายละเอียดก็เพื่อให้สามารถยืดหยุ่นได้ง่าย สะดวกต่อการปรับให้เหมาะสมกับความสนใจและสิ่งแวดล้อมในชีวิตจริงของเด็ก ตัวกำหนดการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เด็กปฐมวัยจะแบ่งตามสาระ โดยแบ่งออกเป็น 4 สาระดังนี้ คือ สาระที่ 1 เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก สาระที่ 2 บุคคลและสถานที่แวดล้อม สาระที่ 3 ธรรมชาติรอบตัวเด็กและสาระที่ 4 สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็ก

           โรงเรียนบ้านพรุใหญ่ กำหนดรูปแบบของการจัดประสบการณ์และกิจกรรมการรู้ต่าง ๆ โดยคำนึงถึงตัวเด็กเป็นสำคัญ เด็กแต่ละคนมีความสนใจแตกต่างกัน จึงมีกิจกรรมที่หลากหลาย หลากประเภท มีทั้งกิจกรรมที่ให้เด็กทำเป็นรายบุคคล กลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ กิจกรรมสงบและกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหว เปิดโอกาสให้เด็กริเริ่มกิจกรรม ได้มีโอกาสเลือกด้วยตนเองตามความเหมาะสมกับวัย ตรงกับความสนใจ และความต้องการของเด็ก ระยะเวลาจัดกิจกรรมเหมาะสมกับวัย ยืดหยุ่นได้ เน้นให้มีสื่อของจริง ให้เด็กได้มีโอกาสสังเกต สำรวจ ค้นคว้า ทดลอง แก้ปัญหาด้วยตนเอง มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเด็กอื่น ๆ และผู้ใหญ่โดยบูรณาการการเรียนรู้ผ่านการจัดประสบการณ์ที่สำคัญ ดังนี้

          1. กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม

                   การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น จัดกิจกรรมบูรณาการการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างสมดุลทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา ประกอบด้วย

             1.1 กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ

                   กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตามจังหวะอย่างอิสระ โดยใช้เสียงเพลงจากสื่อโทรทัศน์ DLTV คำคล้องจอง เครื่องเคาะจังหวะ และอุปกรณ์อื่น ๆ ประกอบการเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมให้เด็กเกิดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ รู้จังหวะและควบคุมการเคลื่อนไหวของตนเองได้

              1.2  กิจกรรมเสริมประสบการณ์

                   กิจกรรมเสริมประสบการณ์ เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เด็กได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ ฝึกการทำงาน และอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มทั้งกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ เน้นให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง และมีโอกาสค้นพบด้วยตนเองให้มากที่สุด ใช้คำถามปลายเปิดที่ชวนให้เด็กคิด ช่วงระยะเวลาที่จัดกิจกรรมยืดหยุ่นตามความเหมาะสมทั้งนี้คำนึงถึงความสนใจของเด็ก และความเหมาะสมของกิจกรรม

              1.3 กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์

                   กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กได้แสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจินตนาการ โดยใช้ศิลปะ เช่น การวาดภาพระบายสี การปั้น การฉีก ตัดปะ การพิมพ์ภาพ หรือวิธีการอื่น ๆ ที่เด็กได้ คิดสร้างสรรค์ และเหมาะสมกับพัฒนาการ เช่น การเล่น พลาสติกสร้างสรรค์

             1.4  กิจกรรมเสรี/เล่นตามมุม

                   กิจกรรมเสรี เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กเล่นอิสระตามมุมประสบการณ์ที่จัดไว้ เช่น มุมบล็อก  มุมหนังสือ มุมร้านค้า มุมบ้าน มุมวิทยาศาสตร์ เป็นต้น มุมประสบการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ เด็กมีโอกาสเลือกเล่น ได้อย่างเสรี ตามความสนใจ และความต้องการของเด็กทั้งเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่มย่อย ให้เด็กมีโอกาสคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง การจัดกิจกรรมให้เด็กเลือกทำกิจกรรมอย่างอิสระ โดยเลือกทำกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างน้อย 1-2 อย่าง ในแต่ละวัน สังเกตพฤติกรรมของเด็ก และดูแลอย่างใกล้ชิดขณะเด็กเล่น สับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมสื่อเครื่องเล่นในแต่ละมุมประสบการณ์เป็นระยะ

             1.5  กิจกรรมกลางแจ้ง

                   กิจกรรมกลางแจ้ง เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กมีโอกาสออกไปนอกห้อง เพื่อออกกำลัง เคลื่อนไหวร่างกาย และแสดงออกอย่างอิสระ โดยยึดความสนใจ และความสามารถของเด็กแต่ละคนเป็นหลัก ให้โอกาสเด็กเลือกเล่นกลางแจ้งอย่างอิสระทุกวัน โดยครูคอยดูแลอย่างใกล้ชิด หมั่นตรวจเครื่องเล่นสนาม และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย และใช้การได้ดีอยู่เสมอ หลังเลิกกิจกรรมให้เด็กได้พักผ่อน หรือนั่งพัก กิจกรรมกลางแจ้งที่จัดให้เด็กในแต่ละวัน ได้แก่ การเล่นเครื่องเล่นสนาม การเล่นทราย การเล่นน้ำ การเล่นสมมติในบ้านจำลอง การเล่นในศูนย์ช่างไม้ การเล่นกับอุปกรณ์กีฬา และการเล่นเกมการละเล่น

             1.6  กิจกรรมเกมการศึกษา

                   เกมการศึกษา เป็นเกมการเล่นที่ช่วยพัฒนาสติปัญญา มีกฎเกณฑ์กติกาง่าย ๆ สามารถเล่น คนเดียวหรือเล่นเป็นกลุ่มได้ ช่วยให้เด็กรู้จักสังเกต คิดหาเหตุผล และเกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสี รูปร่าง จำนวน ฯลฯ การเล่นเกมการศึกษาในระยะแรกเริ่มใช้ของจริง การเล่นเกมในแต่ละวันให้เด็กได้เล่นทั้งเกมชุดใหม่และชุดเก่า จัดให้เด็กหมุนเวียนเล่นเกมตามความเหมาะสม การเล่นเกมเมื่อเลิกเล่นแล้วจัดเก็บรวมไว้เป็นชุด ๆ

          2.  การจัดประสบการณ์โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ ตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย

             โรงเรียนบ้านพรุใหญ่ ใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ ตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้สังเกต สำรวจ ค้นคว้า ทดลอง และแก้ปัญหาด้วยตนเอง รู้จักคิด มีความคิดสร้างสรรค์ ให้โอกาสเด็กได้ใช้ความคิดของตนเองได้มากที่สุด ผ่านกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ในโครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” ซึ่งกระบวนการสืบเสาะหาความรู้มี 5 ลักษณะประกอบด้วย มีส่วนร่วมในคำถาม เก็บข้อมูลหลักฐาน อธิบายสิ่งที่พบ เชื่อมโยงสิ่งที่พบกับสิ่งที่ผู้อื่นพบ และสื่อสารและให้เหตุผล ทั้งนี้ กิจกรรมที่จะให้นักเรียนสำรวจตรวจสอบ จะต้องเชื่อมโยงกับความคิดเดิม และนำไปสู่การแสวงหาความรู้ใหม่และได้ใช้กระบวนการและทักษะต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์และการสืบเสาะหาความรู้ ซึ่งเด็กมีบทบาทในการจัดกิจกรรม ดังนี้

             2.1  เด็กมีส่วนร่วมในการตั้งคำถามเชิงวิทยาศาสตร์อย่างง่าย ๆ

             2.2 เด็กมีส่วนร่วมในการวางแผน สำรวจ ตรวจสอบ หรือทดลอง เพื่อเก็บข้อมูลหลักฐาน และบันทึกผลการสำรวจตรวจสอบด้วยวิธีที่เหมาะสมกับวัย

             2.3 เด็กได้สร้างคำอธิบายหรือลงข้อสรุปจากข้อมูลหลักฐานที่ได้จากการสำรวจตรวจสอบ เพื่อตอบคำถามที่ตั้งไว้

             2.4  เด็กได้เชื่อมโยงหรือพิจารณาคำอธิบายของตนเองกับของผู้อื่น

             2.5  เด็กได้สื่อสาร และให้เหตุผลเกี่ยวกับคำอธิบาย และข้อสรุปที่ได้

          3. การจัดกิจกรรมบูรณาการตามหลักสูตรต้านทุจริต (Anti-Corruption Education)

             มีการปรับพื้นฐานความคิดตั้งแต่ระดับปฐมวัย ให้สามารถแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม โดยนำมาประยุกต์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบด้วย หน่วยการเรียนรู้ตามหลักสูตร ดังนี้

             3.1  หน่วยการเรียนรู้ เรื่อง การคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตน และผลประโยชน์ส่วนรวม

             3.2  ความละอายและความไม่ทนต่อการทุจริต

             3.3  STRONG / จิตพอเพียงต่อต้านการทุจริต

              3.4  พลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม

          นอกจากนี้ โรงเรียนบ้านพรุใหญ่ยังได้จัดทำโครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพของเด็กปฐมวัย ในปีการศึกษา 2566 คือ โครงการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย

          โรงเรียนบ้านพรุใหญ่ประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย อารมณ์ -จิตใจ สังคม และสติปัญญาของเด็ก โดยถือเป็นกระบวนการต่อเนื่อง และเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมปกติที่จัดให้เด็กในแต่ละวัน ผลที่ได้จากการสังเกตพัฒนาการเด็ก และจัดทำข้อมูลที่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นร่องรอยของพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก จากการทำกิจกรรมทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม ซึ่งหลักฐานและข้อมูลที่บันทึกเป็นระยะ ๆ จะสามารถบอกเรื่องราวหรือประสบการณ์ที่เด็กได้รับว่า เด็กเกิดการเรียนรู้ละมีความก้าวหน้าเพียงใด และนำข้อมูลผลการประเมินพัฒนาการเด็กมาพิจารณาปรับปรุงวางแผนการจัดกิจกรรมให้เด็กแต่ละคนได้รับการพัฒนาตามจุดมุ่งหมายในการประเมินพัฒนาการควรยึดหลัก ดังนี้

          1. วางแผนการประเมินพัฒนาการอย่างเป็นระบบ

          2. ประเมินพัฒนาการเด็กครบทุกด้าน

          3. ประเมินพัฒนาการเด็กเป็นรายบุคคลอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ตลอดปี

          4. ประเมินพัฒนาการตามสภาพจริงจากกิจกรรมประจำวันด้วยเครื่องมือที่หลายหลาย เช่น Portfolioสำหรับเป็นรายบุคคล เช่น การเก็บชิ้นงานหรือภาพถ่ายเด็กขณะทำกิจกรรมเพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในงานที่เด็กทำ การบรรยายเกี่ยวกับเรื่องราวหรือประสบการณ์ที่เด็กได้รับ เช่น การจัดประสบการณ์แบบโครงงาน ที่สามารถแสดงให้เห็นร่องรอยเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กทุกด้าน ทั้งประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กและการสะท้อนตนเองของครู อาจบันทึกการสนทนาระหว่างเด็กกับครู เด็กกับเด็ก การบันทึกของครู การบรรยายของพ่อ-แม่ในรูปแบบจดหมาย (และไม่ควรใช้แบบทดสอบ)

          5. สรุปผลประเมิน จัดทำข้อมูลและนำผลการประเมินไปใช้พัฒนาเด็ก โดยใช้วิธีการประเมินที่เหมาะสมและควรใช้กับเด็กช่วงอายุ 3-6 ปี ได้แก่ การสังเกต การบันทึกพฤติกรรม การสนทนากับเด็ก การสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลจากผลงานเด็กที่เก็บอย่างมีระบบ

 

    ผลการพัฒนา 

          จากการดำเนินการตามพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย มาตรฐานที่ 1 คุณภาพเด็ก มาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและการจัดการ และมาตรฐานที่ 3 การจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ ตามกระบวนการที่ได้นำเสนอไปข้างต้น ส่งผลให้ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับปฐมวัยของโรงเรียนบ้านพรุใหญ่มีผลการประเมินภาพรวมอยู่ในระดับดีเลิศ ซึ่งเป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด

จุดเด่น  (โดยภาพรวมทั้งสามมาตรฐาน)

          จากผลการดำเนินงานโครงการ และกิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้สถานศึกษาจัดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในแต่ละมาตรฐาน จากผลการประเมินสรุปว่า อยู่ในระดับดีเลิศ ทั้งนี้ เพราะมาตรฐานที่ 1 คุณภาพของเด็ก อยู่ในระดับดีเลิศ มาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและการจัดการของสถานศึกษา อยู่ในระดับดีเลิศ มาตรฐานที่ 3 กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ อยู่ในระดับดีเลิศ

         ทั้งนี้ เป็นเพราะสถานศึกษามีการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพเด็กอย่างหลากหลาย สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก และแนวทางหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กโดยองค์รวม คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล จัดกิจกรรมบูรณาการปลูกฝังเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ส่งเสริมการมีบทบาทของชุมชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย ในด้านกระบวนการบริหารจัดการสถานศึกษา มุ่งส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงาน มีการวางแผน ออกแบบกิจกรรม และดำเนินงานตามแผนที่เกิดจากการมีส่วนร่วม ใช้ผลการประเมิน และการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นฐานในการพัฒนา ตรวจสอบผลการดำเนินงาน และการปรับปรุงแก้ไขงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ครูจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ วิเคราะห์ ออกแบบและจัดการเรียนรู้ที่เป็นไปตามความต้องการของหลักสูตร และบริบทสถานศึกษา พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้  ใช้สื่อการเรียนรู้ ติดตามตรวจสอบและชวยเหลือนักเรียนเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหารายบุคคล ออกแบบการจัดการเรียนรู้ซึ่งเอื้อให้ผู้เรียนได้ค่อยๆ ต่อเติมแนวคิด ทักษะ และประสบการณ์จนกระทั่งเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้อาจเกิดขึ้นโดยที่ตระหนักในสิ่งที่กำลังเรียนรู้ และไม่ได้ตระหนักว่าเกิดการเรียนรู้ การเรียนรู้อาจไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีแต่ต้องใช้เวลาที่ค่อย ๆ เกิดขึ้น

         นอกจากนี้ สถานศึกษายังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ภายในที่เน้นความเป็นธรรมชาติ สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น และมีความปลอดภัย มาอย่างต่อเนื่อง

          แนวทางการพัฒนาให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น          

          การจัดการศึกษาในระดับปฐมวัย พัฒนาเด็กได้ตามความแตกต่างระหว่างบุคคล และเด็กทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างสูงสุดเต็มศักยภาพ  แนวทางการจัดการศึกษาในหลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัย โรงเรียนบ้านพรุใหญ่ จะต้องเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครอง บุคคลทั่วไป องค์กรและหน่วยงานที่มาศึกษาดูงาน ตลอดจนสถาบันทางการศึกษาต่าง ๆ ที่ผลิตครูผู้สอนในระดับปฐมวัย

          โรงเรียนบ้านพรุใหญ่ มีแนวทางในการพัฒนาสถานศึกษาในอนาคต ดังนี้

          1. พัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม แต่ละปีเพื่อเติมเต็มให้มีความสมบูรณ์ เน้นการให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้

          2. จัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่บูรณาการวิทยาการคำนวณ และกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

          2. ศึกษาและจัดทำนวัตกรรมเพื่อให้มีสื่อ / กระบวนการสอนมีกระบวนการที่สมบูรณ์ สอดคล้องกับหลักการทำงานของสมอง

          3. พัฒนารูปแบบการจัดเก็บข้อมูลเด็ก ในระบบสารสนเทศของชั้นเรียนด้วยระบบเทคโนโลยี และสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้สะดวก ทุกที่ ทุกเวลา

          4. ขยายแนวคิดการพัฒนาเด็กตามรูปแบบ การจัดการศึกษา ระดับปฐมวัย ปฏิบัติสู่สาธารณชน โดยวิธีการต่าง ๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน  ฝึกปฏิบัติงาน ครูนำความรู้เผยแพร่ด้วยการเป็นวิทยากร การเขียนหนังสือบทความ

        ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สรุปผลการประเมินภาพรวม อยู่ในระดับยอดเยี่ยม

          1.1  มาตรฐานที่ 1  คุณภาพผู้เรียน                      มีผลการประเมินอยู่ในระดับ ดีเลิศ

          1.2  มาตรฐานที่ 2  กระบวนการบริหารและการจัดการ มีผลการประเมินอยู่ในระดับ  ยอดเยี่ยม

          1.3  มาตรฐานที่ 3  กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีผลการประเมิน

               อยู่ในระดับยอดเยี่ยม

          กระบวนการพัฒนา

          การดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนบ้านพรุใหญ่ ให้ความสำคัญกับการจัดการแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ร่วมกันวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกของชุมชน ตลอดจนสภาพปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข และออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ได้เหมาะสมกับสภาพความพร้อมของผู้เรียน ผ่านกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ฝึกทักษะกระบวนการคิดและการลงมือปฏิบัติจริง ภายใต้บริบทขอลท้องถิ่น

          ผลการพัฒนา 

          จากการดำเนินการตามพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย มาตรฐานที่ 1 คุณภาพเรียน มาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและการจัดการ และมาตรฐานที่ 3 การจัดประสบการณ์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามกระบวนการที่ได้นำเสนอไปข้างต้น ส่งผลให้ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนบ้านพรุใหญ่มีผลการประเมินภาพรวมอยู่ในระดับยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด

          แนวทางการพัฒนาให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

          การยกระดับคุณภาพการศึกษาต้องดำเนินการเป็นระบบ ทำในระยะยาว ไม่ใช่กิจกรรมพิเศษหรือโครงการเฉพาะกิจ ผู้บริหาร บุคลากรและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องมีความจริงจัง ปรับมุมมองการจัดการศึกษาให้กว้างไกล อย่ามองเพียงผลสัมฤทธิ์ที่อิงการวัดผลครั้งเดียว ระบบกระบวนการวัดและประเมินผลจะต้องทำให้ได้ผลตามสภาพจริงจึงจะสามารถแก้ปัญหาผู้เรียนได้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ จำเป็นจะต้องเสริมในเรื่องของทักษะด้านอาชีพให้กับผู้เรียน

จุดเด่น  (โดยภาพรวมทั้งสามมาตรฐาน)

1. บุคลากรของสถานศึกษาอยู่ในช่วงวัยทำงานส่วนใหญ่อายุยังน้อย จึงมีความรวดเร็ว กระฉับกระเฉง และมีทักษะการใช้เทคโนโลยี

2. ชุมชนโดยรูปมีแหล่งเรียนรู้และบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในเรื่องของภูมิปัญญา

3. สถานศึกษามีแหล่งเรียนรู้ภายในที่มีความหลากหลาย

         จุดที่ควรพัฒนา (โดยภาพรวมทั้งสามมาตรฐาน)

         1.  นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบการจัดเก็บข้อมูลของผู้เรียน และบุคลากร เพื่อความสะดวกและคล่องตัวในการนำข้อมูลมาใช้

         2.  ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูผู้สอนแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมหรือการวิจัย

 

         3.  จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่บูรณาการเรื่องของทักษะในศตวรรษที่ 21 และทักษะด้านอาชีพ



ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

     โครงการ "สุขาดี มีความสุข" 10 มิ.ย. 2567
     รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา ปีการศึกษา 2566 2 มิ.ย. 2567
     รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ปีการศึกษา 2566 1 มิ.ย. 2567
     การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา 29 พ.ค. 2567
     รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self-Assessment Report : SAR) ปีการศึกษา 2566 25 พ.ค. 2567


ระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2
My Office V 6.4 - 2018 Copyright @T&T-2018 All rights reserved.